แมลงวัน

แมลงวัน
ถูกจัดอยู่ในอันดับ ORDER DIPTERA ซึ่งเป็นกลุ่มที่ใหญ่อันดับ 4 ของแมลงเป็นแมลงขนาดเล็ก มีปีก 1 คู่ มีลำตัวอ่อนนุ่ม และเป็นแมลงที่สำคัญทางเศรษฐกิจ เราสามารถพบแมลงวันได้ทุกแห่งในโลก หลายชนิดพบว่าสามารถดูดเลือดสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และหลายชนิดสามารถกัดกินหรือทำลายพืชที่ปลูกทำให้ผลผลิตเสียหาย หลายชนิดสวยงาม บางชนิดมีลวดลายแปลกตา บางชนิดเป็นตัวห้ำ หรือผสมเกสร ดังนั้น แมลงวันจึงมีความสำคัญทางเกษตรและทางการแพทย์

แมลงวัน มีหลายชนิด เช่น แมลงวันบ้าน แมลงวันหลังลาย แมลงวันหัวเขียว แมลงวันทอง แมลงวันสี แมลงวันกระโดด แมลงวันผึ้ง แมลงวันฉก แมลงวันลาย แมลงวันดอกไม้ แมลงวันหัวหนา แมลงวันก้นขน แมลงวันเขาวัว แมลงวันปากดำ แมลงวันตอมตา ฯลฯ

แมลงวันบ้าน
ลักษณะสำคัญ : ตัวเต็มวัยสีเทา มีแถบสีดำ 4 เส้น พาดอยู่ส่วนอกด้านบน หรือ กลางลำตัว ลำตัวยาวตัวประมาณ 1/8-1/4 นิ้ว ตัวหนอนสีขาวครีม หัวแหลมท้ายป้าน ไม่มีขา ไข่มีขนาดเรียวยาว 1 มม. สีขาวอาหาร : กินอาหารได้หลายชนิด รวมทั้งของเสียตัวเมียวางไข่ได้ครั้งละ 100-150 ฟอง และสามารถวางไข่ได้สูงถึง 600 ฟองโดยชอบวางไข่ตามกองขยะที่มีความชื้นสูง หรือสิ่งปฏิกูลต่างๆ ไข่ใช้เวลาฟักตัวประมาณ 6 ชั่วโมง ตัวหนอนลอกคราบประมาณ 3 ครั้ง จากนั้นจะเข้าดักแด้ และฟักเป็นตัวเต็มวัย ในระยะเวลา 1-2 สัปดาห์
แมลงวันหัวเขียว
เป็นแมลงวันที่มีขนาดใหญ่ มีขนาดลำตัว 8-12 มิลลิเมตร ลำตัวสีน้ำเงินแกมเขียว เป็นมัน แมลงวันชนิดนี้ชอบอยู่นอกบ้าน บางครั้งอาจตอมอาหารหรือแหล่งที่มีเชื้อโรค ตัวเต็มวัยจะหากินตามแหล่งอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น เล้าเป็ด ไก่ กองขยะ ตลาด ซากเน่าเปื่อย มูลสัตว์ ก่อให้เกิดความรำคาญกับสัตว์และอาจนำโรคมาสู่สัตว์อาหาร : กินอาหารได้หลายชนิด ของเหลวจากสารอินทรีย์วัตถุ น้ำหวานจากพืชแมลงวันหัวเขียว ใช้ระยะเวลาในการเจริญเติบโต ตั้งแต่ระยะไข่ ตัวหนอน ดักแด้ และฟักเป็นตัวเต็มวัย เป็นเวลา อย่างน้อย 10 วัน ตัวเมียวางไข่และ ตัวหนอนอาศัยเจริญเติบโตตามมูลสัตว์

แมลงวัน สามารถนำโรคมาสู่มนุษย์ หรือสัตว์เลี้ยงได้โดยถ่ายทอดเชื้อโรคที่ติดมากับลำตัว, ปาก หรือขาของแมลง ในขณะที่มันตอมตา ในขณะที่มันตอมอาหาร หรือสิ่งปฏิกูลต่างๆเมื่อคนรับประทานอาหารที่มีแมลงวันตอม ก็จะได้รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายทำให้เกิดโรคต่างๆหลายชนิดเช่น โรคระบบทางเดินอาหาร ซึ่งได้แก่ โรคท้องร่วง, โรคบิด, ไทฟอยด์, พาราไทฟอยด์, อติวาตกโรค, อาหารเป็นพิษ นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถถ่ายทอดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโปลิโอ และไวรัสอื่นๆได้ เช่น โรคตาแดง โรคริดสีดวงตา หรือโรคเยื่อบุตาอักเสบ

แมลงวันที่ใกล้ชิดมนุษย์และเป็นปัญหาสาธารณสุขมากอันดับต้น คือ แมลงวันบ้าน แมลงวันหลังลาย และ แมลงวันหัวเขียว ซึ่งมีแหล่งเพาะพันธ์อยู่ใกล้ชุมชนตามแหล่งขยะมูลฝอย, มูลสัตว์, ปุ๋ย หรือสิ่งของที่กำลังเน่า โดยแมลงวันสามารถค้นหา หรือตอมอาหารได้ โดยอาศัยสิ่งจูงใจ คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และแอมโมเนีย และสารระเหยที่เกิดจากสิ่งเน่าเปื่อยผุพัง

แมลงวัน มีการเจริญเติบโตแบบสมบูรณ์ (COMPLETE METAMORPHOSIS) ประกอบด้วย 4 ระยะ ระยะไข่, ระยะตัวอ่อน (หนอน), ระยะดักแด้ และระยะตัวเต็มวัย

ระยะไข่ แมลงวันสามารถผสมพันธุ์ได้ หลังจากเป็นตัวเต็มวัยได้เพียง 18-30 ชั่วโมงเท่านั้น และผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นก็จะหาแหล่งที่เหมาะสมในการวางไข่ โดยจะค้นหาแหล่งดังกล่าว โดยอาศัยกลิ่นเป็นตัวนำทาง มันจะเริ่มวางไข่ในที่ลับตา แสงแดดส่องไม่ถึง และมีความชื้นสูง โดยวางเป็นกลุ่มๆละประมาณ 120 ฟอง ตัวเมียบางตัวสามารถวางไข่ได้มากกว่า 10 ครั้งในชั่วชีวิต ดังนั้น แมลงวันตัวเมีย 1 ตัว สามารถขยายพันธุ์ได้ 200-1,000 ฟอง ไข่แมลงวันมีระยะฟักภายใน 6-12 ชั่วโมง

ระยะตัวอ่อน หรือหนอน มีรูปร่าง เรียวยาว ปลายด้านท้องใหญ่ หัวหรือปากเรียวแหลมและแข็ง ตัวอ่อนจะกินของกำลังเน่าเหม็นมักชอบกลิ่นแอมโมเนีย หรือกลิ่นของยีสต์เป็นพิเศษ ตัวอ่อนจะกินอาหารมากจนเข้าใกล้ระยะดักแด้จึงจะหยุดกินอาหาร ระยะนี้กินเวลา 6-7 วัน

 

ระยะเข้าดักแด้เมื่อหนอนหยุดกินจะเริ่มคลานไปสู่ที่แห้งๆ เพื่อเริ่มปรับเปลี่ยนร่างกาย โดยหดตัวเองให้สั้นลง จนมีลักษณะอ้วนสั้น ผนังลำตัวจะแข็งขึ้นเพื่อห่อหุ้มตัวหนอน ระยะนี้ใช้เวลา 3-4 วัน ก็จะเข้าสู่ระยะตัวโตเต็มวัน

ระยะตัวโตเต็มวัย เมื่อเข้าดักแด้ และพัฒนาร่างกายสู่ภายในจนมีรูปร่างครบสมบูรณ์ก็จะเริ่มออกจากดักแด้ ซึ่งขณะที่ออกจากดักแด้ใหม่ๆ ยังบินไม่ได้ในทันที จะต้องใช้วิธีเดิน กระโดด เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 15 นาที ลำตัวและปีกเริ่มแข็งแรงขึ้นสมารถบินได้

ภัยจากยุง

จากรายงานการสำรวจพบว่า ทั่วโลกมียุงอยู่มากมายหลายพันชนิด ประมาณการว่ามีมากถึง 3,500 ชนิด (species) ในประเทศไทยมีประมาณ 400 ชนิด ยุงบางชนิดแค่ก่อความรำคาญโดยการดูดกินเลือดคนและสัตว์เลี้ยงเป็นอาหารเท่า นั้น แต่ก็มียุงอีกหลายชนิดซึ่งนอกจากจะดูดกินเลือดเป็นอาหารแล้ว ยังเป็นพาหะนำโรคร้ายแรงต่างๆ มาสู่คนและสัตว์อีกด้วย ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

ยุงรำคาญ (Urban Mosquito)
ลำตัวบอบบาง มีขนาดเล็ก ไม่มีลวดลายตามตัว มีมากที่สุดในจำนวนยุงทั้งหมด วางไข่ในแหล่งน้ำทุกชนิด ตัวเต็มวัยออกหากินทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ส่วนใหญ่ออกหากินตอนหัวค่ำไข่ของยุงจะวางในลักษณะเดี่ยวๆ เป็นแพลอยอยู่ที่ผิวน้ำ ไข่จะฟักในเวลา 24 ชั่วโมง ออกเป็นตัวลูกน้ำและเจริญเติบโตอยู่ในน้ำ จากนั้นก็จะลอกคราบเพื่อเข้าดักแด้หรือที่เรียกว่าตัวโม่ง และจากตัวโม่งจะออกเป็นตัวยุง ระยะเวลาตั้งแต่ไข่ถึงตัวเต็มวัยใช้เวลาประมาณ 9-10 วัน
ยุงลาย (Yellow fever Mosquito)
ลำตัวมีลายสีขาวสลับดำ รวมทั้งที่ขาด้วย ชอบวางไข่ในน้ำนิ่งและใส ในที่ๆ เป็นแหล่งน้ำเล็กๆ ตัวเต็มวัยชอบหากินตอนกลางวัน เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกที่สำคัญของประเทศไทยชอบวางไข่ในภาชนะที่มีน้ำสะอาด เช่น ถังซีเมนต์ จานรองขาตู้กันมด แจกัน เมื่อออกเป็นลูกน้ำจะอาศัยอยู่ในภาชนะดังกล่าวโดยจะตัวเต็มวัยมีนิสัยหากินในบ้านเรือน

การที่จะควบคุมยุงให้ได้ผลดีนั้นจะต้องเรียนรู้ยุงให้ถ่องแท้ดีเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชีววิทยาของยุงซึ่งรวมทั้งวงจรชีวิต อุปนิสัยของยุง ถิ่นที่อยู่ และแหล่งเพาะพันธุ์

วงจรชีวิตของยุง มี 4 ระยะคือ ไข่ ลูกน้ำ ตัวโม่ง และตัวเต็มวัย
ไข่ ไข่ยุงมีขนาดเล็กมากประมาณ 1 มิลลิเมตรเท่านั้น แต่ก็ยังสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ไข่ยุงมีลักษณะรูปร่างแตกต่างกันไป ไข่ยุงก้นปล่องมีทุ่นลอยใสๆ ติดอยู่ด้านข้างของไข่ช่วยพยุงให้ไข่ลอยน้ำได้ ไข่ยุงลายไม่มีทุ่นลอยแต่เกาะติดอยู่ตามผนังภาชนะกักเก็บน้ำ เช่น โอ่งน้ำ โดยเกาะติดอยู่ตามขอบเหนือระดับน้ำเล็กน้อย ไข่ยุงรำคาญเรียงตัวเกาะกันเป็นแพอยู่บนผิวน้ำ ไข่ยุงเสือเกาะติดอยู่ตามขอบใต้ใบพืชน้ำบางชนิดที่อยู่ปริ่มน้ำ ยุงวางไข่ครั้งละประมาณ 100 ฟอง ระยะฟักไข่ประมาณ 2 วัน ก็จะออกมาเป็นลูกน้ำ

ลูกน้ำ แรกเริ่มเมื่อลูกน้ำฟักออกมาจากไข่ มีขนาดเล็กมากเป็นลูกน้ำระยะที่ 1 จากนั้นลูกน้ำจะกินอาหารทำให้เจริญเติบโตขึ้นและลอกคราบเปลี่ยนเป็นลูกน้ำระยะที่ 2 ซึ่งมีขนาดโตขึ้นแต่มีรูปร่างเหมือนเดิม ลูกน้ำจะกินอาหารและเจริญเติบโตขึ้นอีกเป็นลูกน้ำระยะที่ 3 และ 4 ต่อไป การเปลี่ยนระยะแต่ละครั้งจะมีการลอกคราบเสมอ เมื่อลูกน้ำระยะที่ 4 เจริญเต็มที่ก็จะลอกคราบครั้งสุดท้าย เปลี่ยนเป็นระยะตัวโม่ง ซึ่งมีลักษณะรูปร่างแตกต่างไปจากลูกน้ำอย่างมาก ระยะที่เป็นลูกน้ำใช้เวลาประมาณ 6 วัน ลูกน้ำยุงก็มีรูปร่างลักษณะรวมทั้งการเกาะที่ผิวน้ำและนิสัยการกินอาหารแตกต่างกันไป เช่น ลูกน้ำยุงก้นปล่องไม่มีท่อหายใจมีแต่เพียงรูหายใจ จึงลอยตัวขนานกับผิวน้ำและหาอาหารที่ผิวน้ำ ลูกน้ำยุงลายมีท่อหายใจสั้น เกาะที่ผิวน้ำโดยห้อยหัวอยู่ใต้น้ำและหาอาหารที่ก้นภาชนะกักเก็บน้ำ ลูกน้ำยุงรำคาญมีท่อหายใจยาว เกาะที่ผิวน้ำโดยห้อยหัวอยู่ใต้น้ำเช่นกันแต่หาอาหารที่แขวนลอยอยู่ในน้ำ

ตัวโม่ง มีลักษณะรูปร่างที่เด่นชัดคือหัวโต ตามปกติจะลอยตัวนิ่งๆ ที่ผิวน้ำ แต่ถ้าถูกรบกวนจะเคลื่อนที่ได้อย่างว่องไว ระยะตัวโม่งนี้จะหยุดกินอาหารและเป็นระยะสุดท้ายที่ใช้ชีวิตอยู่ในน้ำ ระยะตัวโม่งใช้เวลาประมาณ 2 วัน เพื่อให้ตัวอ่อนที่อยู่ภายในเจริญเติบโตเต็มที่ก่อนที่จะลอกคราบออกมาเป็นตัวยุงตัวเต็มวัย

ระยะเวลาเริ่มจากยุงวางไข่จนกระทั่งเจริญจนถึงยุงตัวเต็มวัย ในประเทศเขตร้อยชื้นอย่างเช่นประเทศไทยนั้นใช้เวลาประมาณ 10 วันเท่านั้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดยุงด้วย

ตัวเต็มวัย เมื่อตัวโม่งเจริญเต็มที่จะลอย นิ่งๆ อยู่กับที่ จากนั้นเปลือกหุ้มบริเวณส่วนหัวของตัวโม่งเริ่มปริออก ตัวยุงที่อยู่ภายในจะค่อยๆ ดันออกมา ขณะที่ตัวยุงโผล่พ้นเปลือกตัวโม่งเกือบหมดเหลือเฉพาะส่วนขา ก็จะเริ่มคลี่ปีกออก เมื่อปลายขาหลุดออกมาหมดแล้วก็จะเกาะอยู่บนผิวน้ำหรือบริเวณใกล้เคียงประมาณ 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้ปีกแข็งแรงพอที่จะบินได้ ตามปกติแล้วยุงตัวผู้ออกมาก่อนยุงตัวเมียและอาศัยบริเวณแหล่งเพาะพันธุ์ตลอด ชีวิต กินอาหารพวกน้ำหวานจากพืชโดยไม่กินเลือด ยุงตัวผู้มีอายุสั้นกว่าตัวเมีย ส่วนยุงตัวเมียเมื่อออกมาจากตัวโม่งจะกินอาหารพวกน้ำหวานจากพืชก่อน เพื่อให้มีพลังงาน จากนั้นก็ผสมพันธุ์โดยยุงตัวเมียผสมพันธุ์ครั้งเดียวเท่านั้นในชีวิตก็ สามารถออกไขได้ตลอดไป เมื่อยุงตัวเมียได้รับการผสมพันธุ์แล้วก็จะหาอาหารเลือดซึ่งมีโปรตีนและธาตุ อาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของไข่ โดยทั่วไปถ้ายุงตัวเมียไม่ได้กินเลือด ไข่ก็ไม่เจริญจึงไม่สามารถวางไข่ต่อไปได้ ยุงแต่ละชนิดชอบกินเลือดเหยื่อแตกต่างกันไป ยุงบางชนิดชอบกินเลือดคน เช่น ยุงลาย ยุงบางชนิดชอบกินเลือดสัตว์ เช่น ยุงรำคาญ ยุงบางชนิดชอบกินทั้งเลือดคนและเลือดสัตว์

เมื่อยุงได้กินเลือดเต็มที่แล้ว ก็จะไปหาบริเวณที่เหมาะสม เกาะพักนิ่งๆ เพื่อรอเวลาให้ไข่เจริญเติบโต เช่น ตามที่อับชื้น เย็นสบายลมสงบและแสงสว่างไม่มาก ยุงบางชนิดชอบเกาะพักภายในบ้านตามมุมมืดที่อับชื้น ยุงบางชนิดชอบเกาะพักนอกบ้านตามสุ่มทุมพุ่มไม้ที่ชุ่มชื้น ในสภาพภูมิอากาศร้อนชื้นแบบบ้านเรา ยุงจะใช้เวลาเพียง 2-3 วัน ไข่ก็สุกเต็มที่พร้อมที่จะวางไข่ได้ ยุงแต่ละชนิดเลือกแหล่งน้ำสำหรับวางไข่ไม่เหมือนกัน บางชนิดชอบน้ำใส นิ่ง เช่น ยุงลาย บางชนิดชอบน้ำโสโครกตามท่อระบายน้ำ เช่น ยุงรำคาญ ยุงบางชนิดชอบวางไข่ตามแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เช่น ยุงก้นปล่อง ยุงวางไข่ครั้งละประมาณ 100 ฟอง เมื่อยุงวางไข่แล้วก็จะบินไปหากินเลือดอีกสำหรับไข่ในรุ่นต่อไปวนเวียนอยู่ เช่นนี้จนกระทั่งยุงแก่ตาย ยุงตัวเมียโดยเฉลี่ยมีอายุประมาณ 1 เดือน ส่วนยุงตัวผู้มีอายุสั้นกว่ายุงตัวเมีย โดยเฉลี่ยมีอายุประมาณ 1 สัปดาห์ รูปภาพ : วงจรชีวิตของยุง

โรคติดต่อนำโดยยุงที่สำคัญในประเทศไทย

1. โรคมาลาเรียแหล่งแพร่โรคอยู่ในท้องที่ป่าเขา โดยเฉพาะตามแนวชายแดนติดต่อกับประเทศพม่าและกัมพูชา เชื้อโรคมาลาเรียคือ โปรโตซัว ซึ่งเป็สสัตว์เซลล์เดียวมีขนาดเล็กมากมีชื่อเรียกว่าพลาสโมเดี่ยม ซึ่งมีอยู่ 4 ชนิดด้วยกัน แต่ที่มีอันตรายร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตคือ พลาสโมเดี่ยม ฟาลซิฟารั่ม2. โรคไข้เลือดออก แหล่งแพร่โรงอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในเขตเมืองและชนบททุกจังหวัดทั่วประเทศ ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็ก เชื้อโรคไข้เลือดออกคือไวรัสที่มีชื่อว่า เดงกี่ไวรัส ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมักเสียชีวิตเนื่องจากเกิดการช็อค

3. โรคเท้าช้าง แหล่งแพร่โรคอยู่ในท้องที่ชนบทเฉพาะทางภาคใต้และภาคตะวันตกของประเทศ เชื้อโรคเท้าช้างคือพยาธิตัวกลมขนาดเล็ก รูปร่างคล้ายเส้นด้ายอาศัยอยู่ในกระแสโลหิตของผู้ป่วย โรคนี้ทำให้เกิดแขน เท้า ลูกอัณฑะบวมโต เกิดความพิการตามมาแต่โรคไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เนื่องจากผู้ป่วยในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีเท้าบวมใหญ่คล้ายเท้าของช้าง จึงเรียกโรคนี้ว่าโรคเท้าช้าง

4. โรคไข้สมองอักเสบ แหล่งแพร่โรคอยู่ ในท้องที่ชนบทโดยเฉพาะทางภาคเหนือบริเวณที่มีการเลี้ยงสุกรมาก โรคนี้ตามปกติเป็นโรคติดต่อในสัตว์ด้วยกันเองเท่านั้น การที่โรคติดต่อมาถึงคนได้นั้นนับเป็นการบังเอิญที่คนไปถูกยุงที่มีเชื้อโรค กัด เชื้อโรคไข้สมองอักเสบคือไวรัสที่มีชื่อว่า แจแปนิส เอนเซบ ฟาไลติส ไวรัส ถึงแม้จำนวนผู้ป่วยโรคนี้มีไม่มาก แต่โรคนี้ทำให้เกิดอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้โดยง่ายหรือทำให้เกิดความ พิการทางสมองตามมาได้