สมุนไพรที่เราใช้

มก.วิจัยสมุนไพรกำจัดปลวก

ปลวก

ปลวก

มก.เปิดตัวสมุนไพรกำจัดปลวก หลังซุ่มวิจัยนานกว่า 20 ปี พบประสิทธิภาพเหนือชั้นกว่าสารเคมี ไม่ทำร้ายมนุษย์ทางอ้อม รองศาสตราจารย์ ดร.สุรพล วิเศษสรรค์ อาจารย์ประจำภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) ผู้คิดค้นสมุนไพรกำจัดปลวก เปิดเผยว่า

ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยถึงการกำจัดปลวกอย่างหลากหลายโดยเฉพาะการใช้สารเคมี ซึ่งล้วนแต่มีผลร้ายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ถือเป็นภัยมืดที่มองไม่เห็น โดยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ได้ทุ่มเทวิจัยสมุนไพรไทยอยู่หลายชนิดเพื่อหาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ช่วยกำจัดปลวกให้ลดลง

“จากการวิจัยพบว่ามีสมุนไพรไทยหลายชนิดที่สามารถนำไปใช้กับวงจรชีวิตของปลวก เพื่อใช้ควบคุมประชากรปลวก ลดขบวนการย่อยอาหาร ทำลายจุลินทรีย์ในทางเดินอาหาร หยุดการลอกคราบของตัวอ่อน ทำให้ตัวอ่อนไม่เจริญโตเติบ ลดการฟักไข่ของนางพญาปลวกเพื่อหยุดการขยายพันธุ์ ซึ่งจะทำให้ปลวกสูญพันธุ์ไปในที่สุด” รองศาสตราจารย์ ดร.สุรพลกล่าว

ขมิ้นชัน

ขมิ้นชัน

สำหรับสมุนไพรที่วิจัยพบว่ามีประสิทธิภาพกำจัดปลวกก็เช่น ขมิ้นชัน เมล็ดน้อยหน้าสะเดาอินเดีย หางไหล (มีผลต่อการหายใจของแมลงจำพวกปากดูดและเจาะดูด) สาบเสือต้นพริก หญ้าแห้วหมู (ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในปลวก) และเปลือกมังคุด (มีผลต่อการทำลายระบบภูมิคุ้มกันในปลวก) สมุนไพรเหล่านี้ปลวกไม่ชอบกิน ดังนั้นก็ต้องมาผสมกับไม้ที่ปลวกชอบกิน เช่นไม้ฉำฉา โกงกาง ทองหลาง ในอัตราส่วนสมุรไพร 1% ต่อไม้ 99% โดยกระบวนการ 3 รูปแบบ

แบบแรกคือ Terminate เป็นไม้เหยื่อล่อปลวกอัดแท่งผสมพืชสมุนไพร แล้วบรรจุในท่อพลาสติกที่สามารถเสียบปักฝังดินได้ โดยฝังไปรอบๆ บริเวณบ้านในทุกระยะ 1.20 เมตร ปลวกจะนำเหยื่อกลับไปสู่รังของมัน โดยในครั้งแรกจะต้องเข้าทำการตรวจเช็คทุก 15 วัน หากจุดใดที่เหยื่อหมดไปให้เปลี่ยนเหยื่อใหม่แทน โดยเปลี่ยนเฉพาะเหยื่อที่มีปลวกกินเท่านั้น ในระหว่างนี้ปลวกจะค่อยๆ น้อยลง และเห็นผลภายใน 6 เดือนหรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับขนาดของรังปลวก

แบบที่สอง Terminus เป็นไม้เหยื่อล่อปลวกอัดแท่งเหมือนแบบแรก แต่ไม่ต้องฝังดินเพียงติดตั้งบริเวณทางเดินของปลวกเพื่อล่อให้มากัดกินไม้ วิธีนี้เหมาะสำหรับบ้านที่เจอกองทัพปลวกโจมตีไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับวิธีสุดท้ายคือ Termina Oil เป็นน้ำมันสกัดสมุนไพรเข้มข้น เวลาใช้ต้องเจือจางกับน้ำในอัตราส่วน สมุนไพร 1 ลิตรต่อน้ำ 35 ลิตรแล้วฉีดพ่น มีฤทธิ์ทำให้ปลวกอ่อนแอลง ซึ่งตัวที่แข็งแรงกว่าจะกินตัวที่อ่อนแแอ ทำให้สารนั้นแพร่กระจายในรังของมันโดยอัตโนมัติ เรียกว่ายืมมือฆ่ากันเองจนสุดท้ายประชากรปลวกก็จะสูญพันธุ์ไปในที่สุด

“คุณสมบัติพิเศษอีกประการคือสมุนไพรที่นำมาใช้นี้มีฤทธิ์ทำให้ราชินีปลวกวางไข่ได้น้อยลง เพราะได้อาหารจากปลวกงาน จากที่เคยตกไข่นาทีละ 100 ฟองก็ลดเหลือ 4-5 ฟองอย่างน่าตกใจ ไม่นานปลวกก็ตายหมด แม้วิธีการนี้จะเห็นผลช้ากว่าใช้สารเคมี แต่รับประกันความปลอดภัยของเจ้าของบ้านว่าปลอดสารเคมีตกค้างอย่างแน่นอน” นักวิจัยสมุนไพรกำจัดปลวกกล่าว

สำหรับผู้อ่านที่สนใจกรรมวิธีกำจัดปลวกแบบนี้สามารถติดต่อขอรายละเอียดได้ที่รองศาสตราจารย์ ดร.สุรพล วิเศษสรรค์ ภาควิชาสัตววิทยา ที่มาข้อมูล : http://www.siamrath.co.th


คนเก่งของ ม.ก

โดย…ผศ. นาม ศิริเสถียร

มนุษย์เราเกิดมาเป็นคนเหมือนกัน ถึงแม้จะเลือกเกิดมิได้ แต่การดำเนินชีวิตเราสามารถลิขิตได้ แม้โลกจะกว้างไกลแสนไกล แต่การดำเนินชีวิตหรือการเดินทางไปสู่จุดหมายของแต่ละคนนั้น ไม่มีใครนำเราไปหรอก แต่ละคนต้องวางแผนกันเอาเอง ผมคนหนึ่งที่เชื่อว่า ถ้าเราได้วางแผนไว้อย่างสุขุมแล้วค่อย ๆ เดินก็ย่อมสู่จุดหมายในชีวิตของแต่ละคน แต่ปัจจัยที่จะชี้นำให้ชีวิตถึงวัตถุประสงค์ของแต่ละคนนั้น ผมว่าจะต้องมีคุณธรรมที่นำสู่ความสำเร็จ หรือที่เรียกว่า อิทธิบาท 4 ซึ่งพออธิบายได้ดังนี้

ความจริงอาจารย์ ม.ก. ของเรามีฝีมือไม่เป็นที่สองรองใคร ในแง่ความคิดสร้างสรรค์ผลงาน งานวิจัย งานบริการวิชาการสู่ชุมชนฯ ซึ่งจากผลงานของอาจารย์ทำให้สังคมและเกษตรกรได้นำความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติมากมาย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตต่อ ๆ ไป แต่ท่านอาจารย์ของ ม.ก. เราทำงานมีความสุขกับงานค้นคว้าวิจัย ไม่ค่อยสนใจว่าสังคมภายนอกเขาทราบหรือไม่ว่าเรากำลังทำอะไร เพื่อใคร และมีประโยชน์ต่อสังคมมากน้อยเพียงใด

รศ.ดร.สุรพล วิเศษสรรค์

รศ.ดร.สุรพล วิเศษสรรค์

คนเก่งของ ม.ก. วันนี้ผมขอยกผลงานของ รศ.ดร.สุรพล วิเศษสรรค์ ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.ก. ท่านได้ค้นคว้าวิจัยร่วมกับนิสิตปริญญาโท-เอกมาหลายปี พบว่าสมุนไพรไทยที่สามารถกำจัดปลวก มด มอด เห็บ หมัด แมลงสาบ ยุง หอยเชอร์รี่ เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และหนอนใยผ้าได้ผลดีและปลอดภัยกับผู้ใช้มี 12 ชนิด คือ เมล็ดมันแกว แห้วหมู ฟ้าทลายโจร หางไหล งา ขมิ้นชัน สาบเสือ ตะไคร้หอม บอระเพ็ด เปลือกมังคุด ฯลฯ ซึ่งบริษัทเอกชนหลายแห่งนำผลวิจัยเหล่านี้ไปผลิตเป็นสินค้าขายแล้ว

ตัวอย่างสมุนไพรที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการกำจัดปลวก เช่น ขมิ้นชัน ที่มีผลต่อการทำงานของเอนไซม์ที่มีเชื้อราในมนุษย์ พืช และสัตว์ เมล็ดน้อยหน่า มีผลต่อการทำลายเนื้อเยื่อของสัตว์ สะเดาอินเดีย มีสารที่ลดการพัฒนาของแมลงทำให้แมลงไม่กินพืชที่ปลูกไว้ หางไหล มีสารที่มีผลต่อการหายใจของแมลงจำพวกปากดูดและเจาะดูด สาบเสือ มีผลต่อการลดระดับเอนไซม์ในเลือด ต้นพริก มีผลต่อการลดการทำงานของอนุมูลอิสระ หญ้าแห้วหมู มีสารยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ในปลวก และเปลือกมังคุด มีผลต่อการทำลายระบบภูมิคุ้มกันในปลวก อย่างไรก็ตามปลวกไม่ชอบกินสมุนไพรเหล่านี้ ดังนั้นการจะฆ่าปลวกจึงต้องนำสมุนไพรดังกล่าวมาผสมกับไม้ที่มันชอบกิน เช่น ไม้ฉำฉา ไม้โกงกาง และทองหลาง โดยผสมกันในอัตราส่วน 1:99 คือ สมุนไพร 1 เปอร์เซ็นต์ และไม้ 99 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งขณะนี้มีบริษัทเอกชนนำไปผลิตขายเป็นการค้าหลายปีแล้ว

ผลิตภัณฑ์กำจัดปลวก มีหลายแบบ

1. เป็นไม้เหยื่อล่อปลวกอัดแท่งผสมพืชสมุนไพร บรรจุในท่อพลาสติก สามารถเสียบปักฝังดินได้ ฝังรอบ ๆ บ้านห่างกัน 1.2 เมตร คอยตรวจดูทุก 15 วัน หากจุดใดเหยื่อหมดก็เปลี่ยนใหม่ วิธีนี้เหมาะสำหรับป้องกันปลวกไม่ให้เข้าไปในบ้าน

2. เป็นไม้เหยื่อล่อปลวกอัดแท่ง เหมือนแบบแรกแต่ไม่ต้องฝังดิน เพียงแต่นำไปติดตั้งตรงทางเดินของปลวก ล่อให้ปลวกมากินเหยื่อในกล่อง วิธีนี้เหมาะสำหรับบ้านที่ปลวกเข้าไปกินของในบ้านแล้ว

3. เป็นน้ำมันสกัดสมุนไพรเข้มข้น เวลาจะใช้งานก็เจือจางในน้ำใช้ฉีดพ่นอัดใส่ห่อ จะทำให้ปลวกค่อย ๆ อ่อนแอลง ราชินีปลวกวางไข่ได้น้อยลงจากเดิมนาทีละ 100 ฟอง เหลือนาทีละ 4-5 ฟองเท่านั้น

การกำจัดปลวกด้วยสมุนไพรจะไม่ได้ผลเร็วทันใจเหมือนใช้สารเคมี เพราะต้องใช้เวลานาน ตั้งแต่ 2 เดือน-1 ปี แต่ข้อดีคือ ไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ สัตว์ และพืช

ยุง

ยุง

สำหรับยุง

สมุนไพรที่ใช้คือ ตะไคร้หอม เสลดพังพอน ทำให้ระบบประสาทของยุงเสื่อม ยุงจะบินไม่ได้ การผสมพันธุ์ก็ไม่มี ก็มากัดคนไม่ได้

มด

มด

มด
ใช้เปลือกมังคุดทำลายระบบเอนไซม์ เพื่อให้มดไม่สามารถสร้างกลุ่มฮอร์โมนบางอย่างที่ทำให้มดเดินตามกันได้ ทำให้มดกระจัดกระจายไม่สามารถเดินเป็นกลุ่มไปหาอาหารในบ้านเราได้ ไล่มดจากเปลือกมังคุดโดยทำเป็นน้ำ

เห็บ

เห็บ

เห็บ, หมัด

ใช้สาบเสือ ฟ้าทะลายโจร

หอยเชอรี่

หอยเชอรี่

หอยเชอร์รี่

ใช้หางไหล หญ้าแห้วหมู มันแกวที่ทำลายระบบเอนไซม์ การย่อยอาหารและลดการทำงาน การหายใจภายในเซลล์ให้มันอ่อนแอลงไม่สามารถเกาะบนต้นไม้ได้ ผลิตภัณฑ์มีทั้งที่เป็นน้ำมันและเป็นน้ำ

ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นผลงานค้นคว้าวิจัยของ รศ.ดร.สุรพล วิเศษสรรค์ ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.ก. อาจารย์ท่านยินดีให้รายละเอียด นำไปทำเป็นการค้าได้ครับ

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม 2548 หน้า 23